ไฟโซล่าเซลล์ เป็นพลังงานทางเลือก ที่ปัจจุบันเจ้าของบ้านจำนวนมากให้ความสนใจ พลังงานไฟฟ้าทางเลือกที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ หรือไฟโซล่าเซลล์ จึงค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหามลภาวะ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อันจะเห็นได้จากหลายๆ ประเทศในยุโรปอย่างอิตาลี เสปน หรืออเมริกา ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
1. เลือกชนิดให้เหมาะสม
เนื่องจากแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและราคาแตกต่างกัน โดยแผ่นไฟโซล่าเซลล์แบบผลึกเดี่ยวจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุด แต่ราคาก็สูงมากตามไปด้วย ส่วนแผ่นไฟโซล่าเซลล์แบบผลึกรวมจะมีประสิทธิภาพรองลงมา และราคาก็ถูกลงมาด้วยเช่นกัน จึงทำให้ได้รับความนิยมมากที่สุด สำหรับแผ่นไฟโซล่าเซลล์แบบฟิล์มบางจะมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด และมีอายุการใช้งานสั้น ทว่าทำงานได้ดีกว่าในพื้นที่ที่มีความเข้มของแสงต่ำ และพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง อีกทั้งยังมีราคาถูกที่สุดด้วย
2. คำนึงถึงประสิทธิภาพ ขนาด และกำลังการผลิต
ความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ไว้ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะถ้าหากราคาเท่ากัน แต่ไฟโซล่าเซลล์อีกชนิดให้ประสิทธิภาพสูงกว่า ก็จะถือว่าคุ้มค่ามากยิ่งกว่า อย่างไรก็ตามไฟโซล่าเซลล์ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ามาก จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นทั้งหมดจึงต้องพิจารณาควบคู่กันไป ให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้ไฟฟ้านั่นเอง
3. เปรียบเทียบค่ากำลังไฟ
เลือกเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า หรืออินเวอร์เตอร์ ให้มีขนาดเหมาะสม นั่นก็คือ เลือกค่ากำลังไฟฟ้าของอินเวอร์เตอร์ให้มากกว่าค่ากำลังไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดรวมกันประมาณ 30-40%
4. ใช้ของที่มีคุณภาพ
เลือกสายไฟและเบรกเกอร์ที่มีคุณภาพ โดยสำหรับสายไฟควรเลือกให้มีความทนทานต่ออุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป นอกจากนี้ข้อต่อต่าง ๆ ก็ต้องทนน้ำและทนความร้อนด้วย
5. ใช้อุปกรณ์เสริมให้เหมาะสม
อย่าลืมเลือกซื้ออุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เครื่องทำงานได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด แม้จะเกิดเหตุฉุกเฉินจนทำให้ความดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม
6. ราคา
ราคาของไฟโซล่าเซลล์ไม่อาจจะระบุได้ชัดเจนมากนัก และการซื้อโซลาร์ในราคาที่ถูกที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีที่สุด ควรดูปัจจัยอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น ประเทศผู้ผลิต คุณภาพ และอุปกรณ์ที่นำมาใช้ประกอบ
7. ประกัน
สิ่งสุดท้ายที่ควรพิจารณาก่อนซื้อก็คือประกัน เพราะของถูกมักรับประกันในระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนใหญ่จะรับประกันอุปกรณ์และความเสียหายที่เกิดจากการผลิต 10 ปี ในขณะที่บางบริษัทก็จะมีประกันกำลังการผลิตด้วย เช่น รับประกันกำลังการผลิต 80% ของกำลังการผลิตเริ่มต้นในปีที่ 25
นอกจากนี้ผู้ผลิตบางรายยังให้ประกันจากบริษัทประกันภายนอกอีกขั้นหนึ่ง เพื่อช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น เนื่องจากธุรกิจไฟโซล่าเซลล์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้หลายบริษัทเกิดการควบรวมหรือปิดกิจการ